Search

Recent Posts

3 เทคนิคช่วยผู้สูงวัยทันสื่อ/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน - ผู้จัดการออนไลน์

beginiteknologi.blogspot.com


ท่ามกลางสถานการณ์โครงสร้างประชากรที่มีเด็กเกิดน้อยมีผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่าปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์เป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ โดยประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และอีก 20 ปีข้างหน้าในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยจำนวน 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงวัย และผู้สูงวัยอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3,500,000 คน

ฉะนั้น โฉมหน้าครอบครัวไทยจะเข้าสู่ยุคเกิดน้อย-อายุยืน จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย ระบุว่า ครอบครัวไทยมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

ภาพรวมครอบครัวไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา พบว่า ครอบครัว 3 วัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นครอบครัวประเภทหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตชนบท โดยมีสัดส่วนสูงถึง 33.6 % ขณะที่ครอบครัวที่มี พ่อแม่ลูก มีสัดส่วน 26.6 % กลับไม่ใช่รูปแบบหลักของครอบครัวไทยอีกต่อไป

ครอบครัวของดิฉันก็เข้าข่ายครอบครัว 3 วัย ทำให้เห็นถึงวิถีความแตกต่างของการใช้ชีวิต และวิธีคิดที่ต่างเติบโตขึ้นมาต่างยุคสมัย มีช่องว่างระหว่างวัยให้ได้พูดคุย ถกแถลง และแลกเปลี่ยนกันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19

ด้วยความที่ครอบครัวของดิฉันมีคน 3 รุ่น ขอแทนภาพว่า รุ่นคุณยายคือรุ่นอนาล็อก รุ่นดิฉันคือรุ่นเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล และรุ่นลูกก็คือรุ่นดิจิทัล

ทั้ง 3 รุ่นต่างก็มีปูมหลังและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน เมื่อช่วงโควิด-19 ทำให้คน 3 รุ่นได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันชนิดแทบทุกวันก็ราว ๆ 2 เดือนเต็ม แม้จะมีภารกิจของแต่ละคนบ้าง แต่ก็ต้องถือเป็นช่วงที่อยู่ด้วยกันใกล้ชิดกันมากที่สุดช่วงหนึ่ง รองจากช่วงวัยเด็กเล็ก

และแน่นอนเมื่ออยู่ร่วมกัน สัมพันธภาพก็เพิ่มมากขึ้น การสื่อสารกลายเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งคนต่างวัย การสื่อสารกันยิ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวที่หลากหลาย และกลายเป็นหัวข้อของการสนทนาของครอบครัวไปด้วย

แต่สิ่งหนึ่งที่มาคู่กันกับการสื่อสารแบบเผชิญหน้า (Face to Face) ก็คือการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี หรือการใช้มือถือของแต่ละคน ที่สื่อสารถึงคนภายนอก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงการเสพสื่อของแต่ละคนเช่นกัน

ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากการเสพสื่อผ่านทางสื่อหลักอย่างทีวี ต่างคนก็ติดตามผ่านทางมือถือของตัวเอง ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเสพสื่ออย่างไร รับข้อมูลแบบไหน และเมื่อนำมาแลกเปลี่ยนกัน ก็จะพบว่าเมื่อต่างคนต่างรับข้อมูล ก็จะมีข้อมูลและความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป สุดแท้แต่วิธีคิดของแต่ละคน แต่สุดท้ายก็จะนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันตามมื้ออาหารนั้น ๆ

นอกจากเรื่องข่าวคราวในแต่ละวัน สิ่งหนึ่งที่พบเห็นก็คือความสนใจในการเสพสื่อของแต่ละคน ซึ่งหมายรวมไปถึงการ “รู้เท่าทันสื่อ” ของแต่ละคนด้วย

เมื่อสังเกตพฤติกรรมการเสพสื่อ ประเด็นการรู้เท่าทันสื่อ ก็พบว่า คุณยายมีความเสี่ยงสูงสุดในการรับสื่อแล้วเชื่อทันที แถมบางคราจะมาแนะนำลูกหลานด้วยว่าข้อมูลที่เชื่อว่าได้รับนั้นเป็นเรื่องจริง ถ้าเป็นอาหารการกินก็จะชวนให้ลูกหลานกินด้วย เพราะเชื่อว่ากินแล้วดี

สรุปก็คือ ผู้สูงวัยนอกจากเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19ได้ง่ายสุดแล้ว ยังตกเป็นเหยื่อของการรับส่งต่อข่าวปลอม หรือ Fake News ที่เกิดขึ้นอย่างมาก

อาจารย์จิราณีย์ พันมูล สาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้ให้ข้อมูลในงานเสวนาเรื่อง “Fake News ในมือสูงวัย ป้องกันได้ถ้ารู้เท่าทัน” โดยได้ลงไปศึกษาสถานการณ์การเข้าถึงสื่อและผลกระทบจากการใช้สื่อของผู้สูงอายุในชุมชนเขตเมือง ช่วงต้นปีพ.ศ. 2563 ซึ่งเริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ พบว่าผู้สูงอายุจะรับสื่อจากการดูทีวีมากที่สุดเพราะใช้ง่าย รองลงมาคือ อินเตอร์เน็ต โดยใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากที่สุด

แอปพลิเคชั่นที่ใช้มากที่สุดคือไลน์ รองลงมาคือยูทูบ, เฟซบุ๊ค และเว็บไซต์

ประเด็นการรับข้อมูลข่าวสารของผู้สูงอายุ 5 ประเด็นหลัก คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค วิธีการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค มาตรการความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และการช่วยเหลือและแบ่งปันสิ่งของให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบของผู้สูงอายุในชุมชนเขตเมือง

เหตุผลหลักของการส่งต่อข้อมูล คือ ข่าวมีความน่าเชื่อถือ ข้อมูลกำลังเป็นประเด็นทางสังคม ข่าวนั้นมีประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่น

ส่วนแหล่งข่าวปลอมจะพบบ่อยที่สุดในไลน์ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ผู้สูงอายุเข้าใช้มากที่สุด สูงถึง 74.3 % เนื้อหาข่าวปลอมที่พบเห็นมากที่สุดจะเป็นเรื่องของ สุขภาพ สาธารณสุข การเมือง เศรษฐกิจ สังเกตได้จากเนื้อหาไม่ตรงกับพาดหัวข่าว

สาเหตุการเชื่อข่าวปลอมของผู้สูงอายุ เกิดจาก 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยภายนอก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรครวดเร็ว ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมาก ทำให้เกิดความวิตกกังวล และมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคน้อยจึงรับข้อมูลตามที่มีความเชื่อในขณะนั้น บวกกับปัจจัยภายใน ได้แก่ ความเชื่อเดิมที่มีอยู่ เช่น สมุนไพรรักษาโรคได้ หรือแรงจูงใจว่าตนเองมีข้อมูลมากกว่าคนอื่นทำให้มีสถานะทางสังคม หรือมีสภาวะทางอารมณ์/จิตใจ ได้ข่าวอะไรมาก็รับไว้หมด

ความจริงเรื่อง Fake News ไม่ใช่ปัญหาแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาทั่วโลก โดยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกใช้คำว่า Infodemic เป็นคำผสมจาก Information (ข้อมูล) + Pandemic (โรคระบาด) หมายความว่าเรากำลังต่อสู้กับข้อมูลที่ผิดซึ่งกำลังระบาดอย่างร้ายแรง เมื่อมีสถานการณ์วิกฤต ภัยพิบัติเกิดขึ้นข่าวปลอมเหล่านี้จะมาทันที และผู้สูงวัยจะตกเป็นเหยื่อที่สูงสุด เพราะปรับตัวเรื่องเทคโนโลยีได้ยากกว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นพลเมืองดิจิทัลไปแล้ว

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย New York University และ Princeton University ได้เคยสำรวจพฤติกรรมการใช้งาน Social Media ของบุคคลวัยต่าง ๆ อย่างจริงจัง และพบว่าผู้สูงอายุ โดยเฉพาะบุคคลที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีแนวโน้มการแชร์ข่าวปลอมมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใช้งานในวัยต่าง ๆ

ผลงานวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Science Advances ระบุว่าผู้ใช้งานที่มีวัยมากกว่า 65 ปี กระจายข่าวปลอมถึง 11 % เมื่อเทียบกับตัวเลขของผู้ใช้งานด้วยวัย 18 ถึง 29 ปี ซึ่งพวกเขาแชร์ข่าวหลอกเพียงแค่ 3 %

นอกจากนี้แล้ว กลุ่มผู้สูงอายุแชร์บทความที่บรรจุเนื้อหาหรือข้อมูลปลอมมากกว่าบุคคลในวัยกลางคนถึง 2 เท่า และเป็น 7 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใช้งานที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นจนถึงตอนปลาย โดยนักวิจัยได้ตั้งข้อสมมติฐานไว้สองประการ

ประการแรก คือ บุคคลในวัยนี้ขาดทักษะและความรู้เกี่ยวกับโลกดิจิทัล (Digital Literacy) เมื่อเทียบกับคนสมัยใหม่ที่พัวพันกับคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

ประการที่สอง คือ ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณตามวัยที่มากขึ้น ส่งผลให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อของเรื่องหลอกลวงได้ง่าย

ฉะนั้น ถ้าสังคมต้องการเปลี่ยนและทำให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการทั้งป้องกันเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมให้เกิดภาคีเครือข่ายหรือตัวกลางในทุกระดับเพื่อคอยช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงวัย รวมไปถึงมาตรการลงโทษผู้ที่ทำให้เกิดข่าวหรือข้อมูลปลอม

ในที่นี้ดิฉันอยากจะเน้นในระดับครอบครัว ที่ต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันในครอบครัวก่อน ควรจะต้องมีตัวกลางทำหน้าที่ประหนึ่ คอยสอดส่องและช่วยเหลือผู้สูงวัย เพราะไม่เพียงแค่สอนวิธีการใช้งานเท่านั้น ควรสอนให้ “รู้เท่าทันสื่อ” ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมหรือมิจฉาชีพด้วย

ภายหลังจากครอบครัวเรามีประสบการณ์ในการสื่อสารของคน 3 วัย ทำให้มีเทคนิควิธีแนะนำผู้สูงวัยมาฝาก

หนึ่ง – รับข้อมูลอย่าเพิ่งเชื่อทันที
ทุกครั้งที่ผู้สูงวัยได้รับข้อมูล เป็นไปได้ควรชวนผู้สูงวัยพูดคุยถึงข้อมูลที่ได้รับจากโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ตาม แต่ก็นำประเด็นที่ได้รับมาแลกเปลี่ยนว่าใครส่งมา มีแหล่งที่มาจากไหน และมีความน่าเชื่อถืออย่างไร ถ้าเชื่อแล้วจะเกิดอะไร ถ้าไม่เชื่อแล้วจะเกิดอะไร ข้อนี้ถ้าทำบ่อย ๆ เวลาผู้สูงวัยรับข้อมูลก็จะไม่เชื่อในทันที จะพยายามคิดมากขึ้น และจะพูดคุยกับลูกหลานมากขึ้น

สอง – ท่าทีลูกหลานสำคัญมาก
อย่าพยายามบอกท่านว่ากำลังถูกหลอกเด็ดขาด หรือแม้แต่ท่าทีที่ลูกหลานพยายามจะสอน แต่พยายามใช้วิธีสื่อสารโดยค่อยๆ พูดคุยด้วยท่าทีและบรรยากาศที่ดี ให้ท่านยอมรับบนเหตุผลของท่าน ควรจะมีจิตวิทยาในการพูดคุยโน้มน้าวให้ท่านเห็นว่า ข่าวชิ้นนี้อาจจะไม่ใช่ข่าวจริง ควรตรวจสอบก่อนดีกว่า

สาม – ให้หลานเป็นตัวเชื่อม
ช่วงวัยเด็กและวัยชรา เป็นช่วงวัยที่สามารถสื่อสารความรักความสัมพันธ์ที่ดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าภายในบ้านของคุณมีการสื่อสารที่ดีต่อกันอยู่แล้ว การให้คนข้ามรุ่นสื่อสารกัน จะทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ผู้สูงวัยจะเปิดใจและยอมเชื่อหลาน จะว่าไปแล้วถ้าหลานมีลูกอ้อนด้วยหน่อย จะทำให้ผู้สูงวัยยอมฟังอย่างว่าง่ายด้วย

การใช้เด็กเป็นสื่อรักในการทำให้ผู้สูงวัยมีความสุขเป็นไม้ตายที่มักได้ผล แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของคนเจเนอเรชั่นที่ 2 ที่ต้องทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธภาพของคนข้ามรุ่นให้มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันด้วย

เพราะการใช้เจ้าตัวเล็กเป็นสื่อดูแลหัวใจของผู้สูงวัย จะทำให้ท่านมีชีวิตชีวา สร้างสีสันภายในบ้าน ทำให้ครอบครัวมีความสุขอีกต่างหาก

แต่ทั้งหมดนี้สมาชิกในบ้านต้องให้ความสำคัญเรื่อง “รู้เท่าทันสื่อ” และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างอยู่แล้วด้วย

แล้วคุณจะพบว่า “ช่องว่างระหว่างวัย” ไม่ได้กว้างอย่างที่คิด !




July 22, 2020 at 08:13AM
https://ift.tt/3jmSFIR

3 เทคนิคช่วยผู้สูงวัยทันสื่อ/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน - ผู้จัดการออนไลน์

https://ift.tt/37dMocA


Bagikan Berita Ini

0 Response to "3 เทคนิคช่วยผู้สูงวัยทันสื่อ/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.