Search

Recent Posts

เกาหลีเหนือตัดการสื่อสารทุกช่องทางกับเกาหลีใต้ คือมุกเก่าเรียกความสนใจของเปียงยาง ? - บีบีซีไทย

beginiteknologi.blogspot.com
North Korean students take part in a rally denouncing "defectors from the North" as they march from the Pyongyang Youth Park Open-Air Theatre to Kim Il Sung Square in Pyongyang on June 8, 2020Image copyright AFP
คำบรรยายภาพ เมื่อ 8 มิ.ย. นักศึกษาเกาหลีเหนือเดินขบวนประณามกลุ่มผู้แปรพักตร์ที่ส่งลูกโป่งบรรจุใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเกาหลีเหนือเข้าไปในประเทศ

เกาหลีเหนือประกาศตัดการสื่อสารทุกช่องทางกับเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงสายด่วนระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีจุดประสงค์อะไร และเหตุใดความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจึงดำเนินมาถึงจุดนี้

สำนักข่าวกลางเกาหลี (เคซีเอ็นเอ) ของทางการเกาหลีเหนือ รายงานว่า เกาหลีเหนือ "จะตัดการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ของหน่วยประสานงานร่วมระหว่างทางการเกาหลีเหนือและใต้ 'อย่างสิ้นเชิง' ตั้งแต่เวลา 12:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ ที่ 9 มิ.ย. ปี 2020"

เกาหลีเหนือยังประกาศตัดช่องทางการติดต่อสื่อสารทางทหารกับเกาหลีใต้ด้วย โดยระบุว่านี่คือ มาตรการแรกในมาตรการต่าง ๆ ที่ประเทศจะดำเนินการ พร้อมกับเรียกเกาหลีใต้ว่า "ศัตรู"

ก่อนหน้านี้สำนักงานประสานงานร่วมสองเกาหลี ได้ปิดทำการชั่วคราวตามมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทั้งสองประเทศต้องติดต่อกันทางโทรศัพท์ โดยเกาหลีเหนือและใต้จะโทรศัพท์ถึงกันวันละ 2 ครั้งผ่านสำนักงานประสานงานร่วมสองเกาหลี ในเวลา 09:00 และ 17:00 น.

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 8 มิ.ย. เกาหลีใต้ระบุว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือนที่เกาหลีเหนือไม่ตอบรับการโทรศัพท์ในรอบเช้า แต่ทั้งสองฝ่ายมีการติดต่อกันตามปกติในรอบบ่าย

"เราได้ข้อสรุปว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนั่งคุยกันแบบเห็นหน้ากับทางการเกาหลีใต้ อีกทั้งยังไม่มีประเด็นใด ๆ ที่ต้องหารือกับพวกเขา เพราะพวกเขามีแต่จะทำให้พวกเราต้องผิดหวัง" เคซีเอ็นเอ ระบุ

เมื่อสัปดาห์ก่อน นางคิม โย-จอง น้องสาวของนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ได้ออกมาขู่จะปิดสำนักงานประสานงานร่วมสองเกาหลี หากรัฐบาลในกรุงโซลยังไม่หยุดยั้งกลุ่มชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ที่พำนักในเกาหลีใต้จากการส่งลูกโป่งที่บรรจุใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาลเกาหลีเหนือให้ลอยข้ามพรมแดนไปยังเกาหลีเหนือ

นางคิม โย-จอง ชี้ว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการกระทำอันเป็นปรปักษ์ซึ่งละเมิดข้อตกลงสันติภาพที่ทำขึ้นในปี 2018 ระหว่างนายคิม จอง-อึน กับประธานาธิบดีมุน แจ อิน ของเกาหลีใต้

อุปกรณ์ของท่านไม่สามารถใช้งานเครื่องเล่นสื่อได้

นักเคลื่อนไหวเกาหลีใต้ปล่อยบอลลูนโฆษณาชวนเชื่อข้ามพรมแดน (วิดีโอเมื่อปี 2014 )

บทวิเคราะห์ของ ลอรา บิกเกอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงโซล

มีแนวโน้มว่าการตัดการติดต่อสื่อสารของเกาหลีเหนือครั้งนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากข้อพิพาทเรื่องการปล่อยบอลลูนบรรจุใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเกาหลีเหนือข้ามพรมแดนเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งในแผนการที่ใหญ่กว่าของรัฐบาลเกาหลีเหนือ

เกาหลีเหนืออาจกำลังสร้างวิกฤตครั้งนี้ขึ้นเพื่อใช้ความตึงเครียดเป็นเครื่องมือต่อรองสำหรับการเจรจาในภายหลัง สรุปสั้น ๆ ก็คือ นี่อาจเป็นความพยายามชวนทะเลาะเพื่อเรียกร้องความสนใจ และเรียกร้องผลประโยชน์จากเกาหลีใต้

พวกเขาเคยเล่นเกมแบบนี้มาแล้วเมื่อปี 2013 เพื่อจี้ให้เกาหลีใต้ยอมอ่อนข้อให้มากขึ้น

นี่ยังเป็นโอกาสที่ดีในการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนในประเทศ จากประเด็นที่ว่า นายคิม จอง-อึน ไม่สามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจตามที่เขาเคยให้สัญญาไว้ได้ รวมทั้งข่าวลือที่แพร่สะพัดว่าโรคโควิด -19 กำลังระบาดในหลายพื้นที่ของเกาหลีเหนือ

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า การที่นางคิม โย-จอง น้องสาวของนายคิม จอง-อึน เป็นผู้ออกคำสั่งให้ตัดสายสัมพันธ์กับรัฐบาลเกาหลีใต้นั้น ถือเป็นการให้พื้นที่และความสนใจในตัวเธอ ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำกระแสการคาดการณ์ว่าเธอกำลังได้รับการวางตัวให้เป็นว่าที่ผู้นำคนต่อไปของเกาหลีเหนือ

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความผิดหวังให้กับรัฐบาลของประธานาธิบดีมุน แจ อิน อย่างไม่ต้องสงสัย หลังจากเมื่อ 2 ปีก่อน ได้เกิดความหวังอันดีจากการที่ผู้นำสองเกาหลีได้พบปะ และเห็นพ้องให้เปิดสายด่วนระหว่างกัน ทว่าตอนนี้เกาหลีเหนือกลับตัดช่องทางการติดต่อระหว่างสองฝ่ายอย่างสิ้นเชิง

ตอนนี้จึงเกิดคำถามว่า หากนี่เป็นเพียงการเริ่มต้นแผนการของรัฐบาลเกาหลีเหนือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศนี้




June 09, 2020 at 09:02PM
https://ift.tt/3f4q4VC

เกาหลีเหนือตัดการสื่อสารทุกช่องทางกับเกาหลีใต้ คือมุกเก่าเรียกความสนใจของเปียงยาง ? - บีบีซีไทย

https://ift.tt/37dMocA


Bagikan Berita Ini

0 Response to "เกาหลีเหนือตัดการสื่อสารทุกช่องทางกับเกาหลีใต้ คือมุกเก่าเรียกความสนใจของเปียงยาง ? - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.